นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองให้สั่งชะลอโครงการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มเติมอีก 12 โครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 76 โครงการที่ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้
"เป็นโครงการใหม่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติม ผมฟ้อง 76 โครงการถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2552 เป็นโครงการที่อนุมัติเพิ่มเติมอีก 12 โครงการก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่ง คาดว่าคงจะเป็นวันศุกร์นี้"
ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดได้อนุญาตให้ 12 โครงการใน 76 โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางผ่อนผันให้อีก 12 โครงการใน 64 โครงการที่ถูกสั่งระงับ เดินหน้าก่อสร้างต่อไปพร้อมๆ กับการดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งศาลฯ มีคำสั่งให้นัดไต่สวนในวันที่ 18 ก.พ.
ปตท.เตรียมยื่นอุทธรณ์6โครงการในมาบตาพุด
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (พีทีทีเออาร์) กล่าวว่ากลุ่มปตท.จะยื่นต่ออุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด กรณีคดีมาบตาพุด โดยอุทธรณ์ 6 โครงการ จาก 18 โครงการที่ยังติดปัญหาอยู่
"6 โครงการนี้ รวมถึงโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 6 ส่วนโครงการอื่น ๆ จะรอความเห็นหน่วยงานผู้ได้รับใบอนุญาตตามคำสั่งศาลปกครองกลาง"
เขากล่าวว่าที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในเรื่องโรงแยกก๊าซที่ 6 เพราะเป็นโครงการที่ได้อีไอไอ (การรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลบังคับใช้ และเป็นโครงการที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีโครงการที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ 11 โครงการ ที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นชอบให้ดำเนินกิจการได้ก่อนหน้านี้ก็เป็นส่วนที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ส่วนอีก 5 โครงการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ได้แก่ 1.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ที่ส่งไปยัง บริษัท พีทีที ยุทิลิตี้ พีทีที เออาร์ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ 2.โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดกลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง ( BPEX) ของ บมจ.บางกอกโพลีเอททิลีน 3.โครงการโรงงานผลิตสารเอทานอลเอมีน 4.โครงการขยายกำลังผลิตพีอี 50,000 ตัน/ปี ของ บมจ.ปตท.เคมิคอล และ 5.โครงการศูนย์สาธาณูปโภคกลางแห่งที่ 2 ของ พีทีทียูทิลิตี้
นายชายน้อยกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนยินดีพร้อมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ทุกประการ โดยในส่วนของ ปตท.ที่มี 25 โครงการ ทั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากศาลและยังไม่ผ่านจะมีการทำการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือเอชไอเอ ควบคู่ไปด้วย โดยในขณะนี้ได้เริ่มทำแล้ว และพร้อมจะทำตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินกิจการก็ต้องขอทำควบคู่ไปด้วย เพราะหากไม่สามารถประกอบกิจการได้ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งการจ้างงานผลกระทบต่อลูกค้า ผลกระทบทางการเงิน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องร้องในข้อหากระทำผิดสัญญาแต่อย่างใดเพราะในกลุ่มเอกชนได้มีการพูดคุยกันตลอด ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและได้มีการประสานกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว
นายกฯ ดอดพบ "อานันท์" เร่งขันน็อตมาบตาพุด
15 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15:41 น
กรรมการ 4 ฝ่ายมาบตาพุด รับปากนายกฯ เตรียมเปิดประชาพิจารณ์กิจการรุนแรงนัดแรก 19 ก.พ. คาดแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะจัดทำประชาพิจารณ์อุตสาหกรรมรุนแรง 19 ประเภทให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ โดยประชาพิจารณ์จะเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 19 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะแนวทางการจัดทำประชาพิจารณ์ในการจัดประเภทอุตสาหกรรมรุนแรง 19 ประเภทว่า ควรจะยึดหลักข้อเท็จจริงและปฏิบัติได้ และควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นระหว่างกรรมการ 4 ฝ่าย กับคณะกรรมการชำนาญการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อหารือในการจัดประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้
สำหรับการเข้ามาหารือของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อมาสอบถามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรค เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้เสนอร่างพ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เสนอเข้าที่ประชุมครม. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา โดยทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอแนะว่า ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกานั้น ควรปรับแก้แค่รูปแบบทางกฎหมายไม่ควรปรับแก้ในเนื้อหาสาระสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับทราบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น