วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ขีดเส้นมาบตาพุด - ขยันขีดกันจัง







ขีดเส้นมาบตาพุดจบใน 5 เดือน "ไตรรงค์" แนะ 30 โครงการยื่นอุทธรณ์ซ้ำ
กลุ่มพิทักษ์อากาศฯ ให้เวลา ปตท. แค่ 6 ก.พ. 53 เหลือเวลา ไม่ถึง 2 สัปดาห์

สรุปผลประชุม กรอ. เอกชนจี้รัฐเคลียร์มาบตาพุด เตรียมบินชี้แจงนักลงทุนยุ่น มี.ค.นี้ ขีดเส้นการทำงานไม่ควรนานเกิน 5 เดือน นายกฯ ชี้ ปัญหามาบตาพุด ต้องเร่งดำเนินตาม รธน. มาตรา 67 "ไตรรงค์" แนะ 30 โครงการ ยื่นอุทธรณ์ซ้ำ ลั่น 5 เดือน จบได้แน่ "บีโอไอ" นัดถกหอการค้าญี่ปุ่น พรุ่งนี้ แจงปัญหา-อุปสรรคการลงทุน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ภาคเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งหาทางออกกฎกติกาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 วรรค 2 เกี่ยกับ แนวทางปฏิบัติในเรื่องของการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การจัดทำผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) การรับฟังความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องและการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายใน 5 เดือน นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นี้ เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้แนวทางดังกล่าวไปชี้แจงต่อนักลงทุนญี่ปุ่น ในการประชุมระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2553 ให้เกิดความเชื่อมั่นและขยายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชน มองว่า การทำงานของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการออกกฎระเบียบต่างๆ ยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการออกเป็นกติกา หรือกฎหมายให้ชัดเจนกว่านี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบิน รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางทางอากาศมากขึ้น และหามาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการสายการบินเข้ามาให้บริการในเส้นทางที่ยกเลิก หรือที่ยังไม่มีสายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การประชุม กรอ. เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมมีความกังวลเรื่องของนักลงทุนต่างชาติที่ไม่อยากมาลงทุนในไทยเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุด แต่ทั้งนี้การดำเนินการต้องเคารพคำตัดสินของศาล โดยการยื่นขอดำเนินการต่อของ 30 โครงการนั้น อาจขออนุญาตไม่ถูกต้อง โดยเป็นการขอเปิดกิจการ ไม่ได้ขอก่อสร้างต่อ ดังนั้นจะให้เอกชน 30 โครงการยื่นใหม่ โดยให้ไปหารือข้อกฎหมายกับอัยการสูงสุด ส่วนจะให้ภาครัฐ อัยการสูงสุด หรือเอกชน เป็นผู้ยื่นขออีกรอบนั้น คงต้องรอหารือข้อกฎหมายอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม จะผลักดันให้ทันเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนี้ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (ONE START ONE STOP) หรือ OSOS เพื่อให้คำปรึกษาข้อกฎหมายปัญหามาบตาพุด เชื่อว่า ภายใน 5 เดือนปัญหาทุกอย่างจะจบ **นายก แนะเร่งทำตาม รธน.มาตรา 67 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหามาบตาพุด โดยเฉพาะ 30 โครงการนั้น เข้าใจว่า 4-5 โครงการ ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองจึงหลุดออกมาส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นกำลังดำเนินการ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง โดยตอนนี้รวมกันอยู่ที่ศูนย์บริการ OSOS ซึ่งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ กับนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดูแลเต็มที่ ส่วนที่สอง คือ กำลังหารือกับอัยการและดูว่าจะมีช่องทางเพิ่มเติมได้ในบางโครงการ เมื่อถามว่า เอกชนกังวลว่าเวลาอาจทอดช้าไป นายกฯกล่าวว่า หากทุกคนรีบเข้ากระบวนการนี้ก็หวังว่า 6-8 เดือนจะจบแต่ถ้าบางโครงการที่ยังเป็นอุปสรรคก็กำลังดูช่องทางและแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ขอย้ำว่าเอกชนเข้าใจเพียงแต่ทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่อาจไม่สามารถพูดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในเรื่องข้อกฎหมาย แต่ทุกคนต้องเคารพกระบวนการศาลและตอนนี้ก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองที่รัฐบาลได้วางไว้ **บีโอไอ นัดถกหอการค้าญี่ปุ่น แจงหมดเปลือก ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 มกราคม 2553) นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ จะจัดประชุมหารือร่วมกับนายโย จิซึคาตะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok: JCC) และคณะกว่า 20 คน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็นและรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการลงทุน และการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำไปปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับโลกให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเด็นสำคัญที่หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ จะเสนอเพื่อหารือในที่ประชุม คือ ความคืบหน้าของการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROH (Regional Operating Headquarter) ซึ่งทางหอการค้าญี่ปุ่นต้องการให้สามารถดำเนินกิจการที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะอนุกรรมการ ROH ที่มี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะเชิญภาคเอกชนและผู้แทนจากหอการค้าญี่ปุ่นมาร่วมให้ความเห็นด้วย ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ก็เป็นอีกประเด็นที่ทางหอการค้าญี่ปุ่นต้องการหารือเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งในการประชุมจะมีผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรอ. และ กนอ. ชี้แจงถึงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมาให้หอการค้าญี่ปุ่นทราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น