วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

ศาลยกคำร้องขอ 30 โครงการ มาบตาพุด - ทำให้ถูกต้องก่อนเถอะ


โรงแยกก๊าซ ปตท.


(22ม.ค. จาก คมชัดลึก) เมื่อเวลา 18.00 น. ศาลปกครองกลาง โดยนายภาณุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ ได้มีคำสั่งยกคำร้องของบริษัทเจ้าของโครงการอุตสาหกรรม 30 โครงการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งระงับการดำเนินโครงการในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ทั้ง 65 โครงการ ตามคำฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน (ผู้ฟ้องคดี)
ประกอบด้วย บริษัทสยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด บริษัทไออาแอล 1996 จำกัด บริษัทอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) บริษัทไทยโพลิเอททีลิน จำกัด บมจ.ปตท. บริษัทพีทีที ฟีนอล จำกัด บริษัทเหมราช อีวเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเดรียลเอสเตท จำกัด บริษัทไทยเอทานอลเอมีน จำกัด บริษัทเอ็มทีพี เอชพีพีโอ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัทบางกอก โพลีเอททีลิน จำกัด บริษัทพีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด บริษัทอูเบะไนล่อน จำกัด บริ ษัทบูลสโคบ สตีล(ประเทศไทย) จำกัด บริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด บมจ. ปตท. เคมิคอล บริษัทเอ็มทีพี เอชพี เจวี(ประเทศไทย) จำกัด บริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด บริษัทสยาม เลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด บริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัทบี อาร์ พี สตีล จำกัด บมจ.วีนิไทย บริษัทไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด ซึ่งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้โครงการหรือกิจกรรมของผู้ร้องทั้งหมดเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด วันที่ 2 ธ.ค.52
ทั้งนี้บริษัทผู้ร้องทั้งหมดอ้างว่า โครงการทั้ง 30 โครงการเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนวันประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางกรอบไว้ในคำสั่งวันที่ 2 ธ.ค.52 ที่ระบุว่า โครงการ หรือกิจกรรมที่มุ่งควบคุมหรือบำบัดมลพิษ หรือติดตั้งอุปกรณ์เท่านั้น ไม่อยู่ในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ดังนั้นโครงการทั้ง 30 โครงการของผู้ร้องจึงยังไม่สมควรถูกสั่งระงับการดำเนินโครงการในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นการชั่วคราว
อย่างไรก็ตามศาลปกครอง ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งหมดสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวของผู้ร้องไม่อยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด วันที่ 2 ธ.ค.52 โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โครงการหรือกิจกรรมของผู้ร้องได้รับการยกเว้นตามคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในเรื่องนี้อีก อย่างไรก็ดีถ้าหากโครงการหรือกิจกรรมใดของได้ดำเนินการตามกฎหรือระเบียบที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดตาม มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 คณะกรรมกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) หรือผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำขอต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณามีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งนั้นเสียก็ได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นเจ้าของโครงการทั้ง 30 โครงการ

ก่อนหน้านี้ ปตท. ....

ปตท.โต้โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่6มาบตาพุดผ่านEIA-HIAแล้ว

นายสุชาติ เทวีทิวารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารโครงการ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT )เปิดเผยว่าโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 มีผลบังคับใช้ แต่กลับอยู่ในเอกสารท้ายฟ้องร้องกรณีมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน

และขณะนี้ PTT ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว

ปตท.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการครบถ้วนตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวทางที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการบูรณาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(HIA) และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ใน EIA เรียบร้อยแล้ว และ PTT พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถที่จะอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลกันได้ทั้งธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมและชุมชน

โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทในการออกแบบและติดตั้งระบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด เช่น ระบบลดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (DeNOx) แบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) เป็นแห่งแรกในพื้นที่มาบตาพุด การปรับลดการระบายมลสารตามหลักเกณฑ์ 80:20 (ทุกอัตราระบายมลสาร 100 หน่วยที่โรงงานเดิมปรับลดลงนั้น โครงการใหม่จะสามารถนำไปใช้ได้แค่ 80 หน่วย ซึ่งทำให้เกิดการลดมลสารในพื้นที่ลง 20 หน่วย)

และออกแบบให้ไม่มีการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศที่เป็นอันตราย (Hazardous Air Pollutants) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

รวมทั้งได้ลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด

โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 สามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้ปีละประมาณ 1 ล้านตันเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทุกปี โดยปี 52 คาดว่าไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มราว 700,000 ตันคิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 12,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น