ปลดล็อก"มาบตาพุด"หลังเม.ย.ฉลุยทุกโครงการ – จริงหรือ!!!
โดย : จันทร์จิรา พงษ์ราย
5 เดือนเต็ม นับตั้งแต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน มานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย
เพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 หลังจาก 65 โครงการในมาบตาพุด ต้อง " ติดล็อก" กับ คำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีไม่ปฏิบัติกฎหมายมาตรานี้ ตามข้อเรียกร้องชาวบ้านที่ฟ้องร้องผ่านสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
เนื่องจากหัวใจสำคัญของกฎหมายมาตรานี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า “ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนฯ ” *** ขณะนี้ พบว่ามากกว่า 3 โครงการในมาบตาพุด ไม่ตอกเสาเข็มฐานรากทั้งหมด อ้างว่าดินสามารถรับแรงได้ ทั้งๆที่โรงงานใกล้เคียงกัน ตอกเสาเข็มจำนวนมาก กรณีศึกษานี้ ส่งให้ นายก รมต. / นายอานันท์ / ศาลปกครองกลาง / สภาวิศวกรรมฯ / ผู้ว่าฯระยอง ให้มีขบวนการตรวจสอบ-ติดตาม อย่างเป็นรูปธรรม โปร่งใส แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็จะยื่นขอให้ปิดโรงงานเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเสี่ยงระเบิดลุกลาม ***
ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับแต่วันที่ 11 พ.ย. 2552 ที่นายอานันท์ มานั่งหัวโต๊ะของกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ผนวกตัวแทน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนชาวบ้าน และนักวิชาการ ต่างยอมรับว่าต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา กับความคาดหวังจากเจ้าของ โครงการอุตสาหกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องในมาตรา 67 รวมถึงแรงกดดันจากภาคสังคมที่จับตาว่าคณะกรรมการชุดนี้ ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อซื้อเวลาหรือไม่
แม้ว่า กรรมการ 4 ฝ่าย จะมาจากข้อเสนอของ เครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออก ตัวแทนคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ที่เคยเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เพื่อเสนอทางออกโดยเน้นการยอมรับและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาก็ตาม แต่กระนั้น ยังส่งผลให้บรรยากาศภายในห้องประชุม "บ้านพิษณุโลก" ทุกๆ วันจันทร์ และวันพุธ จึงค่อนข้างเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด แม้แต่ผู้เข้าร่วมประชุมเอง ถึงกับเอ่ยปากว่าเหนื่อย และเครียด เนื่องจากต้องประชุมนานติดต่อกันหลายชั่วโมง
"รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คณะกรรมการทำงานอย่างจริงจัง และต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวน การทำงานของกรรมการ เพราะมาบตาพุด เรื้อรังและหมักหมมปัญหามานานแล้ว แต่ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้ชาวบ้านยังต้องแบกรับมลพิษมาถึงทุกวันนี้ แต่จะทำอย่างไรให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้" คำพูดของนายอานันท์ บอกหลังมารับตำแหน่ง
กล่าวได้ว่า ในระยะแรก คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ให้น้ำหนักในการวางกรอบและหาแนวทาง เพื่อให้การเดินหน้าภายใต้ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ให้เป็นตามมาตรา 67 โดยเฉพาะประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) และการทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้เสีย
มีการตั้งคณะอนุกรรมการรวม 3 ชุดในการวางกรอบ และในส่วนเนื้องานต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 1. คณะกรรมการศึกษาและเติมเต็มทางเทคนิค เพื่อลดและขจัดมลพิษในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง มี ดร.สุทิน อยู่สุข เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบตามรายงานอีไอเอ ของโรงงานที่เปิดดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันมลพิษที่จะเกิดขึ้น
ส่วนชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงรายการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ มีดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน สำหรับชุดที่ 3 คณะอนุกรรมการชุดผังเมือง เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการลดและขจัดมลพิษในมาบตาพุด มีนายโกศล ใจรังษี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน
ขณะเดียวกัน นายอานันท์ ยังนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นองค์กรอิสระ (เฉพาะกาล) ซึ่งตั้งภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี อีก 1 ชุด ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อสามารถตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระ ซึ่งมีภารกิจในการให้ความเห็นประกอบโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสอง เสร็จสิ้น คณะกรรมการประสานงานฯ ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการองค์การอิสระ ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี นั่นเอง
จนที่สุดงานต่างๆ ก็มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม !!! – คอกก.รับฟัง ทำเพื่อโครงการอนาคต ปัญหาปัจจุบันบอกไม่รับรู้ และไม่ได้ทำสำหรับมาบตาพุด แต่ทำให้ทั้งประเทศ ตามมาตรา 67 วรรค 2 กรณีเรื่องไม่ตอกเสาเข็ม ทรุด-พัง จนระเบิด ไม่รับรู้ ... ให้ไปแจ้งความเอาเอง!!!
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่าย บอกว่า ในภาพรวมถือว่าการทำงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดมีความก้าวหน้ามาก แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง ทั้งในแง่ของความเห็นที่ยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะกรณีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นโครงการรุนแรง ตามมาตรา 67 รวมถึงโครงสร้างการตั้งองค์การอิสระ ที่รัฐยังอยากให้อยู่ในการดูแลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขณะที่กรรมการและภาคสังคมก็มองว่ารัฐยังติดกับอำนาจ จึงต้องใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นช่องทางในการกำหนดคุณสมบัติ เพื่อหาผู้แทนองค์การอิสระ เป็นต้น
"แต่ทั้งหมดเมื่อได้ผ่านการพูดคุย ทุกอย่างก็สามารถเคลียร์ปมความขัดแย้ง จนกระทั่งสามารถเดินหน้างานต่างๆ จนลุล่วงมาได้ทั้งหมด และคาดว่าหลังเดือนเม.ย. นี้ ทุกอย่างจะจบแล้ว เพราะกรอบงานที่กำลังคลอดออกมาทั้งหมด จะช่วยให้เอกชนเดินหน้าตามกระบวนการอีไอเอ อย่างช้าต้นเดือนมิ.ย.นี้"
บัณฑูร ขยายความถึงข้อสรุปดังกล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระ เพิ่งให้การรับรองรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในการเสนอชื่อเป็นกรรมการองค์การอิสระ จำนวน 91 รายแล้ว โดยในวันที่ 21-22 เม.ย. นี้จะมีการประชุมเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) จำนวน 13 คนประกอบ ด้วยผู้แทนจากองค์การพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและสุขภาพ และผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา ส่วนรายชื่อที่เหลือไม่ได้รับการคัดเลือกยังมีสิทธิ์นั่งเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ เช่นกัน
ส่วนการทำงานของคณะอนุกรรมการของ ศ.ดร.ธงชัย ซึ่งต้องแบกรับการบ้านข้อใหญ่มาก ในประเด็นการพิจารณา เพื่อประกาศบัญชีรายชื่อประเภท กิจการโครงการที่อาจเข้าข่ายรุนแรงตามมาตรา 67 และจะใช้เป็นบรรทัดฐานกับการลงทุนอุตสาหกรรมในอนาคต ทำให้รายชื่อที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เตรียมสรุปเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้ จึงต้องมีความรอบคอบทั้งในแง่ของการประเภท และการกำหนดขนาด เพื่อลดข้อกังวลใจของอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นธรรมต่อภาคประชาชนด้วย
ขณะที่คณะอนุกรรมการชุดนายสุทิน เตรียมสรุปแนวทางไปยังรัฐบาล ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เช่น ผังเมืองระยอง บัฟเฟอร์โซน และเงื่อนไขให้เกิดการปฏิบัติตามอีไอเอ การจัดการกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน เสนอต่อกรรมการ 4 ฝ่ายในเร็วๆ นี้
“ ขณะเดียวกันความก้าวหน้าของ พ.ร.บ.องค์การอิสระ (ถาวร) ตามมาตรา 67 ซึ่งมี 2 ร่างกล่าวคือร่างกรรมการ 4 ฝ่าย ในนามรัฐบาลที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาปรับแก้เนื้อหาแล้วอยู่ในวาระการประชุมของสภาฯ ส่วนร่างของ ส.ส.ที่เสนอนายสาทิตย์ ปิตุเดชะ ส.ส.ระยอง ซึ่งทั้งสองร่างยังต้องรอว่าจะเปิดประชุมสภาได้เมื่อไหร่
หากประเมินสถานการณ์ 2 กรณี กล่าวคือ แบบแรก ถ้าไม่มีการยุบสภา เมื่อปิดสมัยการทำงานของสภาการพิจารณากฎหมาย ก็ยังทำได้ ส่วนแบบสอง ถ้าเข้าสภาแล้วผ่านวาระแรก และมีการยุบสภาก่อนไปถึงวาระ 2-3 ก็เรียกว่ามีความก้าวหน้า เพราะเท่ากับว่าไม่ต้องถอยหลังและเดินหน้าในวาระต่อไปได้ เหตุผลคือ เมื่อเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยขอให้ ผ่านร่างแรก" บัณฑูร บอก
เขายังประเมินว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็อาจจะกระทบกับการทำงานของคณะ กรรมการ 4 ฝ่าย ที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม แต่ยังเชื่อว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็น่าจะมาสานต่อปัญหา เพราะไม่ใช่โจทย์ปัญหาทางการเมือง แต่เป็นของธุรกิจและอุตสาหกรรม และชาวบ้าน ซึ่งแนวทางที่กรรมการ 4 ฝ่ายวางกรอบไว้ เป็นทางออกจึงไม่จำเป็นต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
แต่ หาญณรงค์ เยาวเลิศ ตัวแทนกรรมการชาวบ้าน ในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย บอกว่า เขาพอใจกับการทำงานแค่ในระดับหนึ่ง โดยอย่างน้อยก็ยังได้เห็นกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่การปฏิบัติในระยะยาว ทั้งนี้ ยอมรับว่าภายใต้ระยะเวลา 5 เดือนไม่ถึงกับเครียดนัก แต่เขาต้องให้เวลากับงานนี้มากเป็นพิเศษ จนกระทั่งไม่มีเวลาทำงานในพื้นที่ และไม่สามารถนำข้อมูลต่างๆ ไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ได้ ดังนั้นจึงคาดหวังว่ากรอบต่างๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในระยะยาว แม้ว่าจะต้องพึงระเบียบกฎหมายมาเป็นเครื่องมือก็ตาม
“ สิ่งที่ผิดหวังมาก คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ถ้าเทียบกับอีก 3 ฝ่าย ถือว่ายังให้ความร่วมมือน้อยมาก นอกจากนี้ส่วนตัวคิดว่ายังมีหลายเรื่องที่อาจต้องติดล็อกจาก ทส. เอง โดยเฉพาะบัญชีโครงการตามมาตรา 67 ที่จะได้ข้อสรุปในวันที่ 23 เม.ย. นี้ และต้องอาศัยตามประกาศโดยใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของ ทส.
ขณะที่ฝ่ายเอกชน ยังรู้สึกกังวลว่าถ้ามีการกำหนดโครงการรุนแรงอยู่ในประกาศ ทส.มากๆ อาจทำให้กระบวนการลงทุนมีความยุ่งยากซับซ้อน และล่าช้า จึงมีความเห็นแย้งในทำนองอยากให้ปลดรายการบัญชีรุนแรงตามมาตรานี้ออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะยังคิดว่าแค่มีที่ดินและผ่านกระบวนการอีไอเอแล้ว ก็สามารถลงทุนได้แล้ว เรียกว่าเป็นการมองคนละมุมกับชาวบ้าน” หาญณรงค์ สะท้อนปัญหา
กระนั้นก็ตาม เขายังยืนว่า หน้าที่ของกรรมการ 4 ฝ่าย ไม่ใช่การมาปลดล็อกให้กับโครงการใน มาบตาพุดที่อยู่ในคำตัดสินของศาล แต่อยากให้เจ้าของโครงการเดินหน้าตามกระบวนการของมาตรา 67 ซึ่งแม้จะไม่อยู่ในโครงการหรือ กิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ที่อาจนำข้อสรุปนี้ไปปลดล็อกกับศาล โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ส่วน ทส.ต้องกลับมาทบทวนว่าที่ผ่านมามองบทบาทเชิงรุก เน้นการปกป้องและสงวนและรักษา มากกว่ามองทรัพยากรในรูปแบบของการนำไปพัฒนา
"มาบตาพุด" อาจเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์การขับเคลื่อนของอุตสาหกรรม ที่ต้องหันมาเคารพกฎหมาย เคารพวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน – คนมาบตาพุดต้องนอนอยู่กับความกังวลว่า วันไหนจะถึงวันที่ฐานรากมันจะทรุด-พัง จนก๊าซระเบิด ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ดินอ่อนตัวตึกใหญ่ๆ ยังถล่มทั้งๆที่ตอกเสาเข็ม และเชื่อหรือว่า ประเทศไทยจะไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง ในช่วงอายุการใช้โรงงานมีปัญหา -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น