วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องเพิ่ม 9 โครงการในระยองให้ศาลสั่งระงับการลงทุน

ภาพตัวอย่าง (ในต่างประเทศ) การทรุดของถังเก็บก๊าซ แอลพีจีขนาดใหญ่ จากปัญหาฐานรากไม่แข็งแรงเพียงพอ แต่โชคดีไม่มีปัญหาการระเบิดรุนแรง (BLEVE)

ภาพคนเทียบกับถังก๊าซขนาดใหญ่ ปริมาณก๊าซเหลวหนักมากกว่า 3000 ตัน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง จ.ระยอง 35 ราย ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐ 9 หน่วยงาน ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้(10 มี.ค.53) โดยเสนอให้ศาลปกครองกลางระงับโครงการใหม่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนเพิ่มอีก 9 โครงการ

การยื่นฟ้องเพิ่มเติมดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญ 5 ประการ 1.เพราะชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียงได้ร้องเรียนมายังสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องว่าได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากกิจกรรมของการก่อสร้างและการประกอบการโครงการหรือกิจกรรมโครงการต่างๆ ทั้งใหม่และเก่าในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียงในจ.ระยอง มาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้รับความเหลียวแลหรือดูแลเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ ทั้งที่ชาวบ้านพยายามบอกกล่าวและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาดูแล แก้ไขแล้วแต่ก็ยังเพิกเฉย

2.เพราะตลอดระยะเวลาแห่งการเป็นคดีในชั้นศาลปกครอง และมีการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 วรรคสอง พบว่ามีเหตุการณ์อุบัติภัยก๊าซรั่วแพร่กระจายในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางมาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว และไม่มีทีท่าว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะสามารถค้นหาตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาได้หรือลงโทษผู้กระทำผิดได้ รวมทั้งขาดความรับผิดชอบและเยียวยาฟื้นฟูชาวบ้าน คนงานที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง

ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเฉยเมยต่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง ปล่อยให้โรงงานเก่าหรือเดิมในพื้นที่มาบตาพุดที่มีกว่า 117 โรงงานประกอบการต่อไปได้โดยไม่มีมาตรการออกมารองรับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน

3.เพราะตั้งแต่สมาคมฯ และชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง 43 ราย ได้ฟ้องร้อง 8 หน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 วรรคสอง โดยบังคับให้ 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.52 พบว่าตั้งแต่วันที่ฟ้องร้องมาจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.52 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ยังให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ EIA โครงการต่างๆ เพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง

4.เป็นการตอบโต้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากตลอดเวลาที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงตามคำขอของสมาคมฯ และชาวบ้าน พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมีความพยายามขอปลดล็อคโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวจากศาลให้เอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

"สมาคมฯ ถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะบังคับให้เอกชนเจ้าของโรงงานปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สมาคมฯ และชาวบ้านจึงตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง พร้อมเสนอให้ศาลระงับโครงการใหม่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนเพิ่มอีก 9 โรงงาน" แถลงการณ์ระบุ

5.เพราะผู้ประกอบการเอกชนและตัวแทนของกลุ่มนายทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเจโทรได้พยายามเดินสายพบรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย สมาคมฯ ถือว่าเป็นการแทรกแซงและก้าวล่วงอำนาจของกระบวนการยุติธรรมของประทศไทยอย่างชัดแจ้ง ไม่ให้เกียรติเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทย

"หากพฤติการณ์ของเจโทรยังดำเนินการเช่นนี้อีกการฟ้องร้องรอบที่ ๓ จะตามมาและจะมุ่งเน้นแต่เฉพาะโครงการของผู้ประกอบการญี่ปุ่นเป็นหลักอย่างแน่นอน" แถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ หวังว่าผู้ประกอบการทั่วประเทศอีก 181 โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ EIA ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.50 จนถึงปัจจุบันจะยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองมาปฏิบัติใช้โดยเร็ว รวมทั้งกลับไปพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.52 อย่างถี่ถ้วน ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 181 โครงการควรเร่งดำเนินการจัดทำ HIA ใน EIA เพิ่มเติม จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการ และให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบโดยเร็ว เพราะหากยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ผู้ประกอบการทั้งหลายคงจะทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น

สำหรับ 9 โครงการที่สมาคมฯ ยื่นฟ้องเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1.โครงการทำเหมืองชนิดแร่ทรายแก้ว ที่ อ.แถลง จ.ระยอง ของ หจก.กรุงเกษม

2.โครงการโรงงานผลิต Purified Terephthalic Acid(PTA) ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ของบริษัท อินโดรามา ปิโตรเคม จำกัด

3.รายงาน EIA นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท ไทย อีทอกซีเลท จำกัด

4.โครงการผลิตเหล็กเส้น ที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด,

5.โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว ต.มาบตาพุด จ.ระยอง ของบริษัท เอเซีย เทอร์มินัล จำกัด

6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 600 เมกะวัตต์ ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท โกลว์ เอส พี พี 3 จำกัด

7.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ที่นิคมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัทเก็คโค่-วัน จำกัด

8.โครการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ที่ จ.ปราจีนบุรี-อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ของกรมชลประทาน และ

9.โครงการโรงไฟฟ้า TNP2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ 2 จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น