วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข่าวเก่า - กรณีโรงแยกก๊าซ เปิดล่าช้า

พลังงานขู่ทบทวนแผนตรึงราคาแอลพีจีถึง ส.ค.2553 ก่อนกำหนด หากโรงแยกก๊าซฯ 6 ปตท.ถูกระงับกิจการ ส่อกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ

นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยภายหลังการร่วมคณะนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อหาต้นเหตุว่าโรงงานอุตสาหกรรมใดเป็นตัวการปล่อยก๊าซรั่วออกสู่ชุมนุมชน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า ในเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. จะได้ข้อสรุปว่าโรงงานใดปล่อยก๊าซรั่ว ล่าสุดคณะทำงานตรวจสอบการปล่อยก๊าซให้รั่วไหล ได้บีบพื้นที่ที่ต้องสงสัยให้เหลือ 3 กิโลเมตร และประเมินจากแนวทางที่เกิดกระแสลมพัดกลิ่นก๊าซเข้าหาชุมชน ซึ่งมี 10 โรงงานอุตสาหกรรมเข้าข่ายต้นเหตุ "ได้ขอความร่วมมือกรมควบคุมมลพิษ ส่งเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์ว่ากลิ่นก๊าซที่ระเหยออกมาเป็นก๊าซชนิดใด มีอันตรายเพียงใด และขอความร่วมมือตำรวจสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย ต้องสอบปากคำเจ้าหน้าที่โรงงานทั้ง 10 แห่ง และผู้บริหารก่อนจะชี้ขาดว่าเป็นโรงงานใด ส่วนการลงโทษเป็นหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)"
ขณะที่นายวิฑูรย์กล่าวว่า สาเหตุที่ตรวจสอบที่มาของกลิ่นก๊าซรั่วทำได้ยาก เพราะมีการรั่วเพียงเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถค้นหาตัวการปล่อยก๊าซรั่วได้ในทันที แต่กระทรวงได้กำหนดมาตรการแก้ไข ดังนี้ 1.สั่งการให้ กนอ. และ กรอ.ประเมินคุณภาพการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใน 2,200 โรงงานในภาคตะวันออกภายใน 45 วัน เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินการตามอีไอเอของแต่ละโรงงานเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือไม่ และทำรายงานให้ กรอ.ตรวจสอบในทุก 6 เดือน 2.กำหนดแผนฉุกเฉินเพิ่มเติม โดยโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมมาตรการอย่างเข้มข้น และ 3.จัดตั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกลาง เพื่อดูแลสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวหลังการหารือถึงผลกระทบกรณีมาบตาพุดต่อกิจการด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 ของ ปตท.จะเข้าข่ายถูกระงับกิจการหรือไม่ หากถูกระงับจะทำให้ต้องนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) มากขึ้น และกระทบฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะต้องเข้าไปชดเชยส่วนต่างราคา จนฐานะกองทุนอาจติดลบได้ กระทรวงอาจทบทวนโครงสร้างราคาแอลพีจี ที่รัฐมีนโยบายตรึงไว้จนถึงเดือน ส.ค.53 "คงต้องดูผลคณะกรรมการ 4 ฝ่ายว่าจะมีมาตรการที่ใช้เวลามากน้อยเพียงใด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 (2) ของรัฐธรรมนูญปี 50 รวมถึงความชัดเจนคำสั่งศาลว่าโรงแยกก๊าซฯ 6 เข้าข่ายถูกระงับกิจการหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบจนต้องกู้เงินมาชดเชยอีก หากเป็นเช่นนั้น ต้องทบทวนแผนตรึงราคาแอลพีจีก่อนกำหนด หรืออาจไม่ต่ออายุมาตรการ"
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดมาตรการล่วงหน้าหากระงับโรงแยกก๊าซฯ 6 ประกอบด้วย 1. ผลการระงับกิจการจะทำให้ต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มสูงถึงเดือนละ 100,000 ตัน แต่คลังที่เขาบ่อยารับได้เพียง 88,000 ตัน จึงจะทำคลังลอยน้ำในทะเล 2. ให้โรงแยกก๊าซหน่วยอื่นๆ เลื่อนการหยุดซ่อมประจำปีออกไป ทั้งนี้ จากการประเมินราคาแอลพีจีตลาดโลกปี 53 คาดเฉลี่ยที่ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายชดเชยแอลพีจีนำเข้าเดือนละ 1,400 ล้านเหรียญฯ ในปี 53 จะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯติดลบ
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากโรงแยกก๊าซฯ 6 ต้องระงับกิจการ จะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายหาวัตถุดิบไม่ได้ และต้องนำเข้า รวมถึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ดังนั้น ภาครัฐต้องหารือมาตรการเยียวยาอื่นๆ นอกจากนี้ จะมีผลต่อการรับซื้อก๊าซฯ ที่มีสัญญา Take or pay ประมาณ 5,900 ล้านบาทในปี 53 ซึ่ง ปตท.จะรับภาระไปก่อน แต่จะไม่นำมาเป็นภาระค่าไฟของประชาชนแน่นอน ส่วนนายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะทำหนังสือไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อสอบถามความชัดเจนถึงกิจการที่ได้รับอีไอเอก่อนปี 50 โดยเฉพาะโรงแยกก๊าซฯ 6 ว่าจะถูกระงับกิจการหรือไม่ ขณะที่นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้ (15 ธ.ค.) จะนำข้อมูลเกี่ยวกับสถานะ 65 กิจการที่ถูกระงับกิจการ เสนอต่อที่ประชุม ครม. หลังจากให้ กนอ. และ กรอ. สำรวจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กนอ.สรุปรายงานผลสำรวจ 36 โครงการ จาก 53 โครงการ พบมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจดังนี้ 1.ผลกระทบทางตรง แบ่งเป็นเงินลงทุน 87,945.95 ล้านบาท รายได้ที่เกิดจากการผลิต 93,449.00 ล้านบาทต่อปี อื่นๆ 340.00 ล้านบาท 2.ผลกระทบต่อเนื่อง แบ่งเป็น สัญญากับผู้รับเหมา 19,540.00 ล้านบาท ค่าปรับที่เกี่ยวข้อง 2,765.00 ล้านบาท คู่ค้า 19,051.50 ล้านบาท ผู้ให้บริการ 1,384.30 ล้านบาท ฯลฯ ส่วนผลกระทบด้านสังคม ประกอบด้วย 1.จำนวนคนว่างงาน 8,488 คน 2.รายได้ค่าครองชีพของครัวเรือน 1,444.50 ล้านบาท/ปี 3.อื่นๆ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 36 โครงการ รวม 283,964.77 ล้านบาท.
ข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น