นายกฯ มีอำนาจสั่งปลดล็อค จริงหรือ!!!
หรือยังต้องรอศาลปกครองมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ... คำสั่งเดิม ที่สั่งคุ้มครองชั่วคราว
หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับไปศึกษาการประกาศ 18 ประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
ในวันนี้(23 ส.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวลด้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะสามารถประกาศประเภทกิจการดังกล่าว เพื่อปลดล็อกโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 64 โครงการที่ยังรอความชัดเจนจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว และให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม 18 ประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นไปตามการเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน
มาร์ค” เคาะมาบตาพุดวันนี้
0เอกชนคาดหวังเดินหน้าสร้างเชื่อมั่น-ดึงลงทุนบูม
เอกชนลุ้นระทึกบอร์ดสิ่งแวดล้อมเคาะประเภทกิจการรุนแรงจันทร์นี้ หวังกิจการเดินหน้าฟื้นเชื่อมั่นหลังล่าช้ามานาน เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกหวังชัดเจนทั้งประเภทและพื้นที่ ยันเขตควบคุมมลพิษทุกกิจการควรทำเอไอเอ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความคาดหวังจะเห็นการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ด สวล.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะสามารถกำหนดประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ อย่างเป็นทางการให้ชัดเจน เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติตามมาตรา 67 (2) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เวลานานไปพอสมควรแล้ว หากต้องล่าช้าไปอีกจะยิ่งฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนให้ต่ำลง
“ตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดได้วางกรอบประเภทกิจการรุนแรงไว้ 18 ประเภทนั้นไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ไม่ใช่ปรับจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมเท่านั้น ซึ่งถ้าเห็นว่าบางกิจการยังไม่ชัดเจนก็ค้างไว้ก่อน แต่ที่เหลือควรจะประกาศออกมานักลงทุนจะได้ชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ใช่คลุมเครือเช่นทุกวันนี้ ซึ่งหากต้องช้าไปอีกคงจะต้องชี้แจงเหตุผลด้วย โดยเอกชนยืนยันว่า HIA ในโลกนี้ไทยแทบจะดีที่สุดแล้ว” นายพยุงศักดิ์ กล่าว
นายชุษณะ วีระพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการผลิตเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็น ระยะที่ 3 ตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมระยอง อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกคำสั่งศาลปกครองระงับชั่วคราว ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการรอสรุปบัญชีรายชื่อประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และเปิดประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้วในทุกกระบวนการโดยดำเนินการร่วมกับภาคประชาชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดระยอง ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง และกำลังสรุปผลขั้นสุดท้ายเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอรายงานต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรแห่งชาติ (สผ.) ต่อไป
นายสุทธิ อัฌชาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ทุกฝ่ายรอการประกาศประเภทกิจการรุนแรงอยู่ซึ่งหากจะต้องรอไปอีกจะต้องมีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้มีการเปิดประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งเครือข่ายฯ ต้องการเห็นการประกาศทั้งประเภทกิจการรุนแรงและพื้นที่ที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่กำหนดจะเป็นการไปเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการวินิจฉัยตีความซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่โปร่งใสได้ในระยะยาว
“เราต้องการเห็นการประกาศประเภทและพื้นที่กิจการรุนแรงซึ่งได้หารือเรื่องนี้กับนายกฯ ไปแล้ว เช่นกรณีจังหวัดระยองควรจะเป็นกิจการรุนแรงทั้งหมดเพราะถือว่าเป็นเขตควบคุมมลพิษ กรณีกิจการบางอย่างไม่เข้าข่ายแต่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ก็ควรจะถือเป็นกิจการรุนแรงที่จะต้องทำ HIA” นายสุทธิ กล่าว
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีเออาร์ กล่าวว่า คาดหวังว่าการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะมีการกำหนดประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงออกมาได้ เพื่อให้เอกชนมีกรอบในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่รู้ว่าโครงการไหนเข้าข่ายเป็นกิจการรุนแรงหรือไม่เป็นกิจการรุนแรง นอกจากนี้ยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ครบตามองค์ประกอบกฎหมาย
“ที่ผ่านมาก็ถือว่าการดำเนินการล่าช้ามาพอสมควรแล้ว ภาคเอกชนจึงอยากให้มีการประกาศประเภทกิจการรุนแรงออกมา ซึ่งหากมีการประกาศออกมาก็จะทำให้ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งเก่าและใหม่ให้ตัดสินใจกลับเข้ามาลงทุนไทยได้"
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ได้กำหนดทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอีก 3 ปี ข้างหน้า (2553-2555) เน้นเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น บีโอไอศึกษามาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุน 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่อุตสาหกรรมความรู้ 2.การพัฒนาความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.การส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน 4.การสร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการจากความคิดสร้างสรรค์และความเป็นไทย คาดว่าจะเสนอรายงานผลการศึกษาสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมบริการให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาในเดือน กันยายน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น